วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ไทยเบญจรงค์

ข้อมูลทั่วไปของตำบลเสม็ด
สภาพโดยทั่วไปของตำบลเสม็ด
พื้นที่เดิมของตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มชายทะเล ปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน มีต้นเสม็ดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จึงตั้งชื่อตำบลว่า ตำบลเสม็ด มีพื้นที่ 12.5 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 3 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากร 13,482 คน อาชีพส่วนใหญ่ คือ อาชีพรับจ้างและค้าขาย รับราชการ และทำธุรกิจเกี่ยวกับรถบรรทุกและรถยนต์รับจ้าง

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ทิศใต้ ติดกับเทศบาลตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ทิศตะวันออก ติดกับตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ทิศตะวันตก ติดกับอ่าวไทย

การคมนาคม
ตำบลเสม็ดอยู่ห่างจากตัวเมืองชลบุรี ประมาณ 5 กิโลเมตร สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ดังนี้
- เดินทางจากตัวเมืองชลบุรี มาตามถนนสุขุมวิท จนถึงสี่แยกคีรี เลี้ยวขวาถึงตำบลเสม็ด
- เดินทางจากถนนพระยาสัจจา จนถึงสี่แยกสาธารณสุขมูลฐานภาคกลาง เลี้ยวขวาถึงตำบลเสม็ด

การแบ่งเขตการปกครอง
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่
1. หมู่บ้านหัวแหลม
2. หมู่บ้านกระโดน
3. หมู่บ้านไร่ถั่ว

กลุ่มอาชีพ ในที่นี้จะกล่าวถึง กลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์
ผู้นำชุมชน คือ นายสหัส ปรีชารัตน์
ประวัติผู้นำชุมชน
นายสหัส ปรีชารัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2502 ที่ตำบลหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เป็นบุตรคนที่ 6 ของนายสว่าง ปรีชารัตน์ และนางใกล้ ปรีชารัตน์ ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับนางนิตยา ปรีชารัตน์ มีบุตรธิดา 3 คน
การศึกษา
ปี พ.ศ.2508-2514 ระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
ปี พ.ศ.2515-2517 ระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
ปี พ.ศ.2517-2520 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชี ที่โรงเรียนช่างกลกนกอาชีวศึกษา (โรงเรียนเอกชน) สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ
การทำงาน
ปี พ.ศ.2522-ปัจจุบัน ทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

การเรียนรู้และการสั่งสมประสบการณ์

ในระหว่างที่กำลังศึกษา ณ โรงเรียนช่างกลกนกอาชีวศึกษา (โรงเรียนเอกชน) สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ คุณสหัส ปรีชารัตน์ ได้สนใจในงานด้านศิลปะ ประกอบกับพื้นฐานเดิม เคยเห็นบิดาแกะลาย ปั้นลาย เขียนลายโบสถ์ เป็นอาชีพ จึงได้หัดเขียนเบญจรงค์กับคุณลุงสมใจ ทิพย์ทอง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนทำเบญจรงค์ให้กับคุณสหัส ปรีชารัตน์ คนแรก ครั้งแรกเขียนด้วยพู่กันจีนและลายก็เป็นลายที่ลอกเลียนมาจากจีน คุณสหัส มีความมานะพยายามจนสามารถเขียนลายได้ด้วยการลองหัดเขียนลายต่าง ๆ การเรียนรู้ด้วยตนเอง และได้เห็นคุณพ่อซึ่งทำโบสถ์และแกะลาย ปั้นลายไทยก็จดจำมาเขียน ปี พ.ศ.2530 คุณสหัสก็ได้เขียนเบญจรงค์อย่างจริงจังด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้คุณสหัสได้คิดค้นหาวิธีที่จะเขียนลายให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น และไม่สิ้นเปลืองน้ำทอง ครั้งแรกใช้ปากกาหมึกซึมแต่ไม่ได้ผล ต่อมาก็ได้ลองใช้ไซริงฉีดยาทดลองใช้น้ำทอง ครั้งแรกเขียนไม่ได้ เพราะปลายไซริงแหลม ต่อมาก็ลองหักหัวเข็มปลายที่แหลมออกปรากฏว่าเขียนได้ ทำให้เขียนลายได้ละเอียดอ่อน และอ่อนช้อยจนเป็นที่ยอมรับในวงการเบญจรงค์และได้มีการเปิดสอนแนะนำวิธีการทำเบญจรงค์ให้แก่เยาวชนและผู้สนใจเพื่อเป็นวิทยาทาน ทำให้มีลูกศิษย์นับหลายร้อยคน บางคนมีจบแล้วหัดทำจนชำนาญบางรายก็เปิดกิจการเป็นของตนเองจนมีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน

ปี พ.ศ.2534 คุณสหัส ปรีชารัตน์ได้กลับมาทำเบญจรงค์ที่ภูมิลำเนาของตนเอง จนถึงปัจจุบัน การเขียนลวดลายน้ำทองของคุณสหัส ปรีชารัตน์ จะไม่ซ้ำแบบใครโดยเฉพาะลายในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ลายขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ลายการละเล่นของเด็กไทยในยุคต่าง ๆ นอกจากนี้การให้สีที่ไม่ซ้ำแบบใครด้วยการลงสีสด โดยเฉพาะสีแดง ส้ม ชมพู สอดแทรกลงในลายน้ำทอง ซึ่งน้อยรายที่จะทำได้

รางวัลและผลงานที่ได้รับ
ปี พ.ศ.2545 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเบญจรงค์ลายขนบธรรมเนียมประเพณี ลายรามเกียรติ์ และลายการละเล่นของเด็กไทยยุคต่าง ๆ ในงานกระทุ่มแบนบ้านเราครั้งที่ 5 อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2545
ปี พ.ศ.2546 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดเบญจรงค์ลายรามเกียรติ์ ลายขนบธรรมเนียมประเพณีและลายการละเล่นของเด็กไทยยุคต่าง ๆ ในงานประเพณีลอยกระทงและงานกระทุ่มแบนบ้านเราประจำปี พ.ศ.2546 ณ เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน

การเผยแพร่ภูมิปัญญาสู่สาธารณชน
1. เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ ได้แก่ สถานีวิทยุคลื่นเมืองใหม่ 98.75 A.M. ปี พ.ศ.2548
2. สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น จังหวัดชลบุรี บริษัทเคเบิ้ลทีวีชลบุรี จำกัด ปี พ.ศ.2547
3. เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ http://www.thaitambon.com/ ปี พ.ศ.2547-ปัจจุบัน

สถานที่ตั้ง
166/62 หมู่ที่ 3 บ้านริมทะเล 2 ถนนพระยาสัจจา ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20000


การผลิตเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์ ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
การผลิตเครื่องเบญจรงค์ในปัจจุบัน เริ่มจากการหาวัตถุดิบที่เป็น เซรามิค (ceramic) ซึ่งนิยมที่เคลือบด้วยสีขาว ซึ่งมีหลากหลายชนิด เช่น Porcelain, Bonechina, Stone ware และอีกหลากหลายชนิด หลังจากเลือกชนิดของวัตถุดิบได้แล้ว ต่อจากนั้นก็เลือกรูปทรงของวัตถุดิบ ซึ่งมีหลากหลาย เช่น โถทรงต่าง ๆ หรือ ของใช้บนโต๊ะอาหาร (Table ware) หรือ เครื่องใช้ทางสังฆภัณฑ์ แรกเริ่มเดิมทีการเขียนเบญจรงค์เขียนด้วยพู่กันเลียนแบบลายมาจากจีน ได้พัฒนาจากลายจีนมาเป็นลายไทย เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของไทย แต่พู่กันเขียนลายไทยได้ไม่ละเอียด และสิ้นเปลืองทอง จึงหาวิธีและได้ค้นพบว่าเขียนด้วยเข็มฉีดยาด้วยเบอร์ 0.24, 0.25, 0.26 จะได้เส้นที่ละเอียด คมชัด ช่วยประหยัดน้ำทอง

การผลิตเครื่องเบญจรงค์
การผลิตเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์แบ่งออกเป็น 3 แบบ
1.เครื่องเบญจรงค์แบบมุก
2.เครื่องเบญจรงค์แบบสีบนเคลือบ
3.เครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน

ขั้นตอนการผลิตแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน เครื่องเบญจรงค์แบบมุกและแบบสีบนเคลือบ มีขั้นตอนการผลิตเหมือนกัน แต่การผลิตเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน จะมีความแตกต่างกัน กล่าวคือหลังจากการผ่านขั้นตอนการเขียนลวดลาย นำเครื่องเบญจรงค์ไปเผา จากนั้นก็นำมาเคลือบหรือสีน้ำทอง แล้วนำไปเผาอีกครั้ง เมื่อเผาเสร็จสามารถนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้ทันที การผลิตเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูนจะมีสีสันที่สวยงามกว่า ขั้นตอนการผลิตมีรายละเอียด ดังนี้
1. เตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิต
2. การเขียนลวดลาย
3. ลงสีลวดลายบนเครื่องเคลือบ
4. นำเข้าเตาเผา
5. เมื่อเผาเสร็จ ทิ้งไว้จนอุณหภูมิลด
6. นำออกจำหน่าย

การเตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตเครื่องเบญจรงค์

1. วัตถุดิบ ได้แก่ เครื่องเคลือบ สีน้ำทองและสีบนเคลือบ
1.1 เครื่องเคลือบ
เครื่องเคลือบหรือบางครั้งนิยมเรียกว่า เครื่องขาวหรือของขาว เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดหนึ่งที่เคลือบน้ำยาประเภทของเนื้อดินที่นำมาทำเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาวเพื่อผลิตเครื่องเบญจรงค์ คือ ดินเกาลิน เครื่องเคลือบแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.1.1 เครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลน เป็นเครื่องเคลือบที่ทำจากเนื้อดินเกาลินมีความเหนียวน้อย ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลนมีเนื้อดินละเอียด สีขาวใสมีความโปร่งแสงและไม่หนามากนักสามารถเก็บน้ำและความชื้นได้ดีเวลาเคาะจะมีเสียงดังกังวานมาก
1.1.2 เครื่องเคลือบประเภทโบนไชน่า เป็นเครื่องเคลือบที่ใช้ดินประเภทเดียวกับเครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลน แตกต่างโดยการผสมขี้เถ้ากระดูกลงไปในการผสมดินก่อนที่จะนำเนื้อดินมาปั้นเป็นเครื่องเคลือบ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ประเภทโบนไชน่า เป็นเครื่องเคลือบที่มีเนื้อผลิตภัณฑ์ละเอียดและมีน้ำหนักเบามากกกว่า เครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลน ราคาของเครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลนถูกกว่าราคาของเครื่องเคลือบประเภทโบนไชน่า แต่ลักษณะรูปแบบและตัวผลิตภัณฑ์มีความเหมือนกัน จากการศึกษาพบว่าประเภทและรูปแบบผลิตภัณฑ์ของเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาวกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์ได้สั่งซื้อโดยตรงจากจังหวัดลำปาง
รูปแบบเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาว
รูปแบบเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาว ที่ใช้ในผลิตเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์มี 2 แบบคือ แบบเคลือบเงา และแบบเคลือบด้าน โดยเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาวทั้ง 2 แบบเมื่อนำมาผลิตเครื่องเบญจรงค์จะให้ความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป
1.2 สีน้ำทอง
สีน้ำทองเป็นสีชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการวาดลวดลายต่าง ๆ เพื่อตกแต่งผลิตภัณฑ์เพิ่มคุณค่า และความสวยงาม ความแวววาวของสีน้ำทองจะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของทองเป็นส่วนสำคัญโดยสีน้ำทองต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่สั่งซื้อจากประเทศ เยอรมัน ซึ่งสีน้ำทองของประเทศเยอรมันจะมีคุณภาพดีกว่า แต่ราคาจะแพงกว่าสีน้ำทองของประเทศอื่น สีน้ำทองที่จำหน่ายในตลาดมี 3 ประเภท ได้แก่ สีน้ำทองแบบมันวาว สีน้ำทองแบบด้าน และสีน้ำทอง แบบสว่าง
1.3 สีบนเคลือบ
สีบนเคลือบคือ สีที่มีส่วนผสมของออกไซด์ต่าง ๆ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการทางเคมี เป็นสีที่นำมาใช้เขียนสีบนเครื่องเคลือบ ส่วนใหญ่เป็นสีสำเร็จรูปแล้ว สีที่ใช้ในการผลิตจะมีหลากหลายสี มีทั้งแบบที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วและแบบที่ไม่มีสารตะกั่ว ชนิดของสีบนเคลือบที่ใช้
ในการผลิตเครื่องเบญจรงค์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.3.1 ชนิดผงสี เป็นสีแบบเคลือบชนิดทึบแสง โดยซื้อผงสีจากบริษัทผู้ผลิตสีซึ่งมีให้เลือกทุกเฉดสี ซึ่งมีมากกว่า 30 สี สีบนเคลือบมีการผลิตหลายรูปแบบเช่น ผลิตในรูปหลอด สีบนแท่ง เป็นแบบปากกาและดินสอ สีที่เป็นผง (สีฝุ่น) ราคาของสีที่ใช้นั้นจะแตกต่างกันไปแล้วแต่เฉดสี
1.3.2 ชนิดน้ำ เรียกว่า สีประกายมุกหรือสีลัสเตอร์ ลักษณะเป็นสีเหลืองรุ่งมีหลายสีหรือสีสันเหมือนปีกแมลงทับหรือเปลือกหอยมุกที่ให้สีเป็นสีรุ้งสีประกายมุกนี้ใช้ทาตกแต่งบนผิวเคลือบ ลักษณะของสีประกายมุกคล้ายน้ำมันชักเงา เวลาใช้ห้ามเขย่าขวดและกวนสีก่อนใช้ โดยใช้เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใส ๆ ที่อยู่ข้างบน สารที่ตกตะกอนด้านล่างไม่ต้องเขย่าขึ้นมา สีประกายมุกรวมตัวเป็นก้อนหรือวุ้นแสดงว่าเสื่อมคุณภาพ การเก็บรักษาสีบนเคลือบทั้งแบบชนิดผงและชนิดน้ำ ต้องเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ห่างจากแสงอาทิตย์ ถ้าปิดฝาไม่สนิทหรือวางเก็บไว้ในอุณหภูมิที่สูงเกินไปสีจะเสื่อมคุณภาพ ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก

ขั้นตอนการเตรียมสีบนเคลือบ
สีที่นำมาใช้จะต้องผ่านขั้นตอนการเผาสังเคราะห์ โดยบริษัทผู้ผลิตจะบรรจุขวดแยกประเภทของเฉดสีต่าง ๆ ไว้ ซึ่งผ่านการผสมสีน้ำเคลือบแล้ว

2. อุปกรณ์ในการผลิต
2.1 แป้นหมุน
2.2 พู่กัน
2.3 เข็มฉีดยา ใช้สำหรับเขียนลวดลาย
2.4 เตาเผา
2.1 แป้นหมุน เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับรองรับเครื่องปั้นเพื่อตกแต่ง มีลักษณะเป็นรูปวงกลมมีแกนอยู่ตรงกลาง แป้นหมุนที่ดีจะต้องมีความคล่องตัว เวลาหมุนรอบตัวได้นาน ประโยชน์ของแป้นหมุน คือ ช่วยในการเขียนลวดลายเครื่องเบญจรงค์ ประหยัดเวลาในการทำงานงานที่ออกมาเรียบร้อยสม่ำเสมอ
2.2 พู่กัน เป็นพู่กันที่ใช้สำหรับเขียนสีโดยเฉพาะ ควรเลือกใช้พู่กันชนิดที่มีขนยาวอ่อนนุ่ม จะช่วยอุ้มน้ำได้ดี โดยไม่ต้องจุ่มสีหลายครั้ง ขนาดของพู่กันจะแตกตางกันออกไปตาลวดลายนั้น ๆ พู่กันที่ใช้ในการเขียน คือพู่กันจีน มี 2 ขนาด คือ ขนาด M และ ขนาด L วิธีใช้ก่อนจะนำพู่กันไปใช้ต้องนำพู่กันไปจุ่มหรือแช่น้ำสะอาดประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนขนพู่กันอ่อนนุ่มสามารถนำมาใช้งานได้
2.3 เข็มฉีดยา ใช้เข็มฉีดยาเบอร์ 0.24, 0.25 , 0.26 ซึ่งจะได้เส้นที่ละเอียดคมชัดและช่วยประหยัดน้ำทอง โดยขั้นตอนในการนำมาประยุกต์ใช้เป็นปากกาเขียนสีน้ำทอง เริ่มต้นจากการนำเข็มฉีดยา มาตัดปลายเข็มในส่วนที่แหลมคอออก และนำกระดาษทรายขัดให้ปลายของเข็มลดความคมลง และการเก็บรักษาทำได้โดยการล้างด้วยน้ำสะอาดการนำเข็มฉีดยามาประยุกต์ใช้ทำให้สามารถเขียนทองที่มีลวดลายละเอียดได้ง่าย และวาดลวดลาย ต่าง ๆ ได้รวดเร็วกว่าการใช้พู่กันในอดีต
2.4 เตาเผา เตาเผาที่ใช้ในการผลิตเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์เป็นเตาเหล็กใช้ไฟฟ้าชนิดฝาเปิด-ปิดบน โดยอุปกรณ์เตาเผาประกอบด้วยแผ่นรองสำหรับใช้ในการเผา 2 แผ่นขาตั้งสำหรับรองแผ่นขนาดต่าง ๆ 24 ชิ้น เตาเผาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเป็นอุปกรณ์ใน การผลิตที่ซื้อใช้เพียงครั้งเดียวสามารถใช้งานได้โดยตลอด

การเขียนลวดลาย
ขั้นตอนการเขียนลวดลายเริ่มต้นด้วยการใช้อุปกรณ์คือเข็มฉีดยาที่มีการนำมาประยุกต์ ใช้เป็นปากกาสำหรับการเขียนทอง และสีน้ำทอง ซึ่งมีความข้นพอดีในการใช้งานก่อนใช้เขย่าขวดเพื่อให้สารละลายของทองที่เป็นโลหะหนักลอยตัวขึ้นมาทั่วทั้งขวด และก่อนการใช้ทุกครั้งต้องเช็ดทำความสะอาดที่บริเวณปากขวดไม่ให้มีคราบเก่าหรือฝุ่นติด และการเทสีน้ำทองมาใช้ในปริมาณมากเกิน กว่าระยะเวลาในการใช้ 30 นาทีจะทำให้สีทองเหนียวข้นและแห้งจนเขียนไม่ลื่น หลังจากเตรียม อุปกรณ์และสีเริ่มต้นขั้นตอนการเขียนทองโดยเทสีทองลงในเข็มฉีดยาแล้วเขียนลวดลายที่ต้องการ พู่กันที่ใช้เขียนสีทองต้องแยกเฉพาะไม่ปะปนกับสีอื่น การทำความสะอาดหลังใช้งานแล้ว ต้องล้างหรือแช่ในน้ำมันสนเท่านั้น และเมื่อล้างด้วยน้ำมันสนและแช่ในแอลกอฮอล์ เพื่อให้ขนพู่กันแห้งเร็วแล้วสะบัดขนแปรงให้แห้ง ในการเขียนสีทองต้องอาศัยความชำนาญในการทำ นำโถหรือผลิตภัณฑ์มาขึ้นแป้นวนแล้วใช้ปากกาหมึกซึมขีดกำหนดจุดช่องไฟและวาดลวดลายลงในช่องที่กำหนดไว้ เมื่อวาดลวดลายเสร็จวางทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เครื่องเคลือบที่ผ่านการเขียนลวดลายแล้วไปวางในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และวางผลิตภัณฑ์ห่างจากกัน เมื่อเคลือบแห้งแล้ว หลังจากนั้นนำเครื่องเคลือบที่ผ่านการเขียนทองไปลงสีลวดลายซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไป
สำหรับขั้นตอนการเขียนลวดลาย กรณีที่เป็นเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน หลังจากที่ลงสีน้ำทองเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไปเข้าเตาเผาก่อนเพื่อให้สีทองติดกับตัวผลิตภัณฑ์โดยขั้นตอนในการเผาจะเหมือนการทำเครื่องเบญจรงค์ โดยเผาที่อุณหภูมิประมาณ 700-800 องศาเซลเซียสเป็นเวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดทิ้งไว้จนอุณหภูมิลดต่ำลงด้วยการเปิดตู้เตาเผาทีละน้อยเพื่อระบายอากาศ หลังจากนั้นนำเครื่องเบญจรงค์ทองนูนมาเขียนลวดลายด้วยสีน้ำทองหรือ
สีบนเคลือบก่อนนำไปเผาอีกครั้ง
สำหรับความร้อนในการเผาด้วยเตาไฟฟ้า ถ้าเผาทอง จะใช้ความร้อนของเตาไฟฟ้า ที่อุณหภูมิ 720 – 750 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นการเผามุก จะใช้ความร้อน 750 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นเผาเบญจรงค์จะใช้ความร้อน 820-830 องศาเซลเซียส

ประเภทของลวดลาย
ส่วนใหญ่ลวดลายเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์ได้เขียนลวดลายในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ มโนราห์ พระอภัยมณี ลายดอกพิกุล ลายก้านขด ลายจักรี ลายเทพพนม ลายหน้าสิงห์ ลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายดอกโบตั๋น ลายบัว ลายนกยูง ลายผีเสื้อ ลายดอกไม้นานาพรรณ และลายเกี่ยวกับประเพณีไทยต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง ปีใหม่ และการละเล่นของเด็กไทย

การลงสีลวดลายบนเครื่องเคลือบ
การลงสีลวดลายบนเครื่องเคลือบขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องเบญจรงค์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
1. เครื่องเบญจรงค์แบบสีบนเคลือบและเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน
2. เครื่องเบญจรงค์แบบมุก

ขั้นตอนการลงสีลวดลาย แบ่งออกได้ดังนี้
1. การลงสีลวดลายบนเครื่องเบญจรงค์แบบสีบนเคลือบและเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน เริ่มต้นจากการใช้พู่กันจุ่มสีที่ต้องการแล้วค่อย ๆ ทาลงไปในลวดลายต่าง ๆ การลงต้องสม่ำเสมอและให้เฉดสีตามลายนั้น ๆ กรณีที่ต้องการลบสีบนเคลือบออกจากผิวเคลือบทำได้โดยใช้สำลีชุบวาสลีนเช็ดออก หลังจากที่ลงสีลวดลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์ที่ผ่านการลงสีลวดลายขึ้นแป้นหมุนอีกครั้ง แล้วใช้พู่กันเขียนสีทองลงบริเวณหัวจุกของผลิตภัณฑ์กรณีที่เป็นโถสี การลงสียังนิยมลงสีตามรูปแบบลวดลายแบบโบราณ ในปัจจุบันมีการพัฒนาสี
และค้นคิดการผสมสีบนเคลือบเชิงสร้างสรรค์มากกว่า 30 สี
2 . การลงสีเครื่องเบญจรงค์แบบมุก มีขั้นตอนการลงสีเช่นเดียวกับการลงสีลวดลายเบญจรงค์แบบสีบนเคลือบ แต่ใช้สีเฉพาะคือ สีลัสเตอร์หรือสีประกายมุก การลงสีให้ใช้พู่กันจีนเกลี่ยสีโดยเร็ว
การลงสีลวดลายบนเครื่อง เบญจรงค์ทุกประเภท ห้ามใช้พู่กันจีนจุ่มสีบนเคลือบจากขวดโดยตรง เพราะจะทำให้สีเสื่อมคุณภาพเร็วจะต้องเทสีใส่จานสีหรือถ้วยสีก่อนใช้ทุกครั้ง

การเผา
การบรรจุผลิตภัณฑ์ในเตาเผา ต้องคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเขียนลวดลายและลงสีก่อนนำไปเผาต้องแห้งสนิทและไม่มีรอยแตกร้าวปรากฏขนาดของผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกัน
การจับผลิตภัณฑ์ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง การจับหรือถือผลิตภัณฑ์ทำได้โดยการใช้มือข้างหนึ่งรองรับก้นภาชนะและมืออีกข้างหนึ่งพยุงตัวผลิตภัณฑ์ หลีกเลี่ยงการจับผลิตภัณฑ์โดย
ใช้มือโอบรอบหรือหิ้วการวางผลิตภัณฑ์บนชั้นของเตาสามารถวางซ้อนกันได้หรือวางให้ผิวผลิตภัณฑ์สัมผัสกัน เพื่อเป็นการประหยัดเนื้อที่ในการเผา การวางผลิตภัณฑ์บริเวณจุดกึ่งกลางของส่วนกลางของเตาเผาจะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุด การวางผลิตภัณฑ์ต้องมีชั้นเตาเว้น
ชั้นหนึ่งวางปิดผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการวางผลิตภัณฑ์จะวางเครื่องเคลือบไว้บริเวณจุดศูนย์กลางของเตาเสมอ
การเผาผลิตภัณฑ์
ก่อนนำผลิตภัณฑ์เข้าเตาเผา ต้องทำความสะอาดภายในเตาก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันกันเศษผงต่าง ๆ หล่นมาติดผลิตภัณฑ์ขณะเผา หลังจากการเผาเสร็จสิ้นต้องทิ้งเตาไว้ให้เย็นประมาณ 16 – 24 ชั่วโมง จึงค่อยเปิดเตานำเอาผลิตภัณฑ์ออกจากเตาได้ และนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้ทันที

เตาเผา
ประเภทสินค้าที่ผลิต ได้แก่ เต้าปูนใหญ่ โถมะยม โถจุกสิงห์ โถหมากรุก ฟักทอง มะยมใหญ่ โถทรงเต้าปูน โถชั้น กรวดน้ำ ม้าลายดอกไม้ลาย โถพลูลายจักรี ลายดอกโบตั๋น โถคอคอดลายดอกโบตั๋น แก้วน้ำลายก้านขดทองนูน ชุดบูชาพระลายดอกพิกุลทอง ปลาทองนูน ไก่ทองนูน ลายหอยสังข์ แจกัน ลายขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ เป็นต้น

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เส้นลายที่เขียนต้องใช้ลายทอง 12% ซึ่งสกัดมาจากทองจริง ๆ และลวดลายละเอียดอ่อนโดยเฉพาะเป็นลวดลายในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ลายขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยและลายการละเล่นของเด็กไทยในยุคต่าง ๆ ลวดลายดังที่กล่าวมานี้ก็ต้องลงลายไปในรูปทรงขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งวงการเบญจรงค์คิดว่าทำยากและเสี่ยงต่อการลงทุน

ปัญหาและอุปสรรคในการผลิต
น้ำทอง 12% และสีฝุ่นเคลือบมีราคาสูงมาก และต้องนำเข้าจากประเทศเยอรมัน ช่างเขียนและช่างลงสีต้องฝึกให้ชำนาญ

บทวิเคราะห์ ลักษณะเด่นของภูมิปัญญา
1. เป็นการคิดค้นหารูปแบบผลิตภัณฑ์และการเขียนลวดลายของผลิตภัณฑ์แบบต่าง ๆ
2. เป็นภูมิปัญญาที่มีพื้นฐานสืบทอดมานาน โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง
3. เป็นภูมิปัญญาจากการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยการสังเกต จดจำ และลงมือปฏิบัติจริง
4. ภูมิปัญญานี้มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ เป็นการผสมผสานกันระหว่างความรู้ ความชำนาญ ที่ได้รับการถ่ายทอด ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์จนทำให้มีชื่อเสียง และทำรายได้ให้กับครอบครัวชุมชนได้เป็นอย่างดี

กระบวนการถ่ายทอด
มีการถ่ายทอดความรู้เชิงช่างให้กับบุคคลผู้สนใจ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มาศึกษาดูงานทั้งที่เป็นการถ่ายทอดกับบุคคลในครอบครัว การถ่ายทอดจากเจ้าของร้านให้กับลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานในท้องถิ่น รวมทั้งการถ่ายทอดให้กับครูและนักเรียนที่สนใจเป็นการถ่ายทอดความรู้โดยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) ระยะต่อมามีการติดต่อเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้กับสถาบันการศึกษาตลอดจนบุคคลผู้สนใจในเรื่องเบญจรงค์ด้วย

การนำไปใช้ประโยชน์
ภูมิปัญญาการผลิตเบญจรงค์นี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เช่นใช้เป็นของที่ระลึก ของฝาก ตกแต่งบ้าน หรือนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เพิ่มความสวยงามให้แก่บ้านเรือน เป็นสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณี งานหัตถกรรมเบญจรงค์เป็นงานฝีมือที่มีความประณีต บ่งบอกถึงรสนิยมและความสนใจในงานฝีมือที่ละเอียด และสวยงาม ด้านคุณธรรมคุณงามความดี สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนเป็นสินค้าดีเด่น และทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดชลบุรี

การประยุกต์ใช้กับสังคมสมัยใหม่
ปัจจุบันการผลิตเบญจรงค์ได้มีการพัฒนาลวดลายต่าง ๆ ให้เข้ากับยุคสมัยและประโยชน์ในการใช้งานตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนารูปแบบเครื่องเบญจรงค์ พร้อมเขียนลวดลายใหม่และเก่าผสมผสาน แต่ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายประเพณีต่าง ๆ และลายที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่คือ ลายในวรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์ ลายขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ ของไทย นอกจากนี้ก็ยังเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องกระดาษ กล่องผ้ากำมะหยี่ กล่องกระจก เป็นต้น

กลวิธีการนำสินค้าชุมชนสู่ตลาดเมืองและตลาดโลก
ปัจจุบันสินค้าเป็นที่รู้จักกันดีไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ วิธีการส่งสินค้ามีวิธีการต่าง ๆ เช่น ตัวแทนส่งออก การสั่งซื้อและบริการส่งให้ถึงที่ การมารับสินค้าเองที่ร้าน การส่งสินค้าผ่านตัวแทน โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือถ้าสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากก็จะคิดราคา ขายส่ง นอกจากนี้ก็มีการจำหน่ายสินค้าและแหล่งผลิตเองการจำหน่วยตามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยการออกร้านนิทรรศการงานประจำปีของจังหวัดชลบุรี หรืองานประจำปีของจังหวัดอื่น เผยแพร่โดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต เช่น http://www.thaitambon.com/ หรือ http://www.thaibenjarong.com/

บทสรุป
จากการศึกษาภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเบญจรงค์ ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์ ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมอย่างกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมจีน มาตั้งแต่สมัยอยุธยายาวนานจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เครื่องเบญจรงค์ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากสุดยอดช่างฝีมือทั้งไทยและจีน เพื่อเป็นภาชนะในราชสำนัก ตลอดจนเป็นเครื่องยศของพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์ เส้น สาย ลาย สี ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเชื่อมโยงศาสตร์วิทยาการงานผลิตเข้าหางานช่างศิลป์อย่างสุนทรีย์ ถ้วยแต่ละใบ ชามแต่ละชิ้นบอกเล่าเรื่องราวแห่งยุคสมัย เป็นสิ่งแสดงความลุ่มลึกแห่งภูมิปัญญาเป็นมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมถึงแม้ว่ารูปแบบของงานเบญจรงค์จะถูกพัฒนาไป แต่สิ่งที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและบ่งบอกความเป็นงานหัตถกรรมเบญจรงค์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือลักษณะวิธีการทำและองค์ประกอบที่ปรากฏอยู่บนภาชนะรูปแบบต่าง ๆ ที่ควรค่าแก่การส่งเสริมและอนุรักษ์ไม่ให้ศิลปวัฒนธรรมสูญหายไป และยังมีการสืบทอดเจตนารมณ์การผลิตเครื่องเบญจรงค์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในชุมชนต่างๆตามหลักวาทกรรมที่ว่า“เบญจรงค์เป็นหัตถกรรมของไทยแท้แต่โบราณการผลิตเบญจรงค์ในปัจจุบันเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองมาแต่อดีตของไทยและคนไทยจำเป็นต้องรักษารูปแบบประเพณีนิยมที่สืบทอดต่อกันมา ตั้งแต่โบราณกาลไว้ให้คงอยู่คู่เมืองไทย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นถือเป็นมิติทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมาตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน สังคมจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญา และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองได้ จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็งส่งผลต่อชุมชนในภาพรวม ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้

--------------------------
บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.thaitambon.com/ [11 กันยายน 2551].
ณัชชา เข็มเจริญ.การผลิตและการตลาดเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มสตรีสหกรณ์:กรณีศึกษากลุ่มสตรีสหกรณ์พัฒนาบางโทรัด. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , 2548.
เถกิง พัฒโนภาษ และ พิม คงแสงไชย. การออกแบบเบญจรงค์ร่วมสมัยสำหรับการส่งออก. รายงานการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.
ประวัติเครื่องเบญจรงค์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.cityofbenjarong.com/ [11 กันยายน 2551].
สำนักงานเทศบาลตำบลเสม็ด. ข้อมูลทั่วไปแผนที่เขตเทศบาลตำบลเสม็ด [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.samed.go.th/ [11 กันยายน 2551].
สุรีย์ภรณ์ แจ่มประจักษ์. การพัฒนารายการวีดิทัศน์ เรื่อง เบญจรงค์ : ของดีที่ท่าเสา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดท่าเสา จังหวัดสมุทรสาคร.
วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

ไม่มีความคิดเห็น: