วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ไทยเบญจรงค์

ข้อมูลทั่วไปของตำบลเสม็ด
สภาพโดยทั่วไปของตำบลเสม็ด
พื้นที่เดิมของตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มชายทะเล ปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน มีต้นเสม็ดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จึงตั้งชื่อตำบลว่า ตำบลเสม็ด มีพื้นที่ 12.5 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 3 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากร 13,482 คน อาชีพส่วนใหญ่ คือ อาชีพรับจ้างและค้าขาย รับราชการ และทำธุรกิจเกี่ยวกับรถบรรทุกและรถยนต์รับจ้าง

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ทิศใต้ ติดกับเทศบาลตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ทิศตะวันออก ติดกับตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ทิศตะวันตก ติดกับอ่าวไทย

การคมนาคม
ตำบลเสม็ดอยู่ห่างจากตัวเมืองชลบุรี ประมาณ 5 กิโลเมตร สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ดังนี้
- เดินทางจากตัวเมืองชลบุรี มาตามถนนสุขุมวิท จนถึงสี่แยกคีรี เลี้ยวขวาถึงตำบลเสม็ด
- เดินทางจากถนนพระยาสัจจา จนถึงสี่แยกสาธารณสุขมูลฐานภาคกลาง เลี้ยวขวาถึงตำบลเสม็ด

การแบ่งเขตการปกครอง
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่
1. หมู่บ้านหัวแหลม
2. หมู่บ้านกระโดน
3. หมู่บ้านไร่ถั่ว

กลุ่มอาชีพ ในที่นี้จะกล่าวถึง กลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์
ผู้นำชุมชน คือ นายสหัส ปรีชารัตน์
ประวัติผู้นำชุมชน
นายสหัส ปรีชารัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2502 ที่ตำบลหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เป็นบุตรคนที่ 6 ของนายสว่าง ปรีชารัตน์ และนางใกล้ ปรีชารัตน์ ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับนางนิตยา ปรีชารัตน์ มีบุตรธิดา 3 คน
การศึกษา
ปี พ.ศ.2508-2514 ระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
ปี พ.ศ.2515-2517 ระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
ปี พ.ศ.2517-2520 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชี ที่โรงเรียนช่างกลกนกอาชีวศึกษา (โรงเรียนเอกชน) สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ
การทำงาน
ปี พ.ศ.2522-ปัจจุบัน ทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

การเรียนรู้และการสั่งสมประสบการณ์

ในระหว่างที่กำลังศึกษา ณ โรงเรียนช่างกลกนกอาชีวศึกษา (โรงเรียนเอกชน) สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ คุณสหัส ปรีชารัตน์ ได้สนใจในงานด้านศิลปะ ประกอบกับพื้นฐานเดิม เคยเห็นบิดาแกะลาย ปั้นลาย เขียนลายโบสถ์ เป็นอาชีพ จึงได้หัดเขียนเบญจรงค์กับคุณลุงสมใจ ทิพย์ทอง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนทำเบญจรงค์ให้กับคุณสหัส ปรีชารัตน์ คนแรก ครั้งแรกเขียนด้วยพู่กันจีนและลายก็เป็นลายที่ลอกเลียนมาจากจีน คุณสหัส มีความมานะพยายามจนสามารถเขียนลายได้ด้วยการลองหัดเขียนลายต่าง ๆ การเรียนรู้ด้วยตนเอง และได้เห็นคุณพ่อซึ่งทำโบสถ์และแกะลาย ปั้นลายไทยก็จดจำมาเขียน ปี พ.ศ.2530 คุณสหัสก็ได้เขียนเบญจรงค์อย่างจริงจังด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้คุณสหัสได้คิดค้นหาวิธีที่จะเขียนลายให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น และไม่สิ้นเปลืองน้ำทอง ครั้งแรกใช้ปากกาหมึกซึมแต่ไม่ได้ผล ต่อมาก็ได้ลองใช้ไซริงฉีดยาทดลองใช้น้ำทอง ครั้งแรกเขียนไม่ได้ เพราะปลายไซริงแหลม ต่อมาก็ลองหักหัวเข็มปลายที่แหลมออกปรากฏว่าเขียนได้ ทำให้เขียนลายได้ละเอียดอ่อน และอ่อนช้อยจนเป็นที่ยอมรับในวงการเบญจรงค์และได้มีการเปิดสอนแนะนำวิธีการทำเบญจรงค์ให้แก่เยาวชนและผู้สนใจเพื่อเป็นวิทยาทาน ทำให้มีลูกศิษย์นับหลายร้อยคน บางคนมีจบแล้วหัดทำจนชำนาญบางรายก็เปิดกิจการเป็นของตนเองจนมีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน

ปี พ.ศ.2534 คุณสหัส ปรีชารัตน์ได้กลับมาทำเบญจรงค์ที่ภูมิลำเนาของตนเอง จนถึงปัจจุบัน การเขียนลวดลายน้ำทองของคุณสหัส ปรีชารัตน์ จะไม่ซ้ำแบบใครโดยเฉพาะลายในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ลายขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ลายการละเล่นของเด็กไทยในยุคต่าง ๆ นอกจากนี้การให้สีที่ไม่ซ้ำแบบใครด้วยการลงสีสด โดยเฉพาะสีแดง ส้ม ชมพู สอดแทรกลงในลายน้ำทอง ซึ่งน้อยรายที่จะทำได้

รางวัลและผลงานที่ได้รับ
ปี พ.ศ.2545 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเบญจรงค์ลายขนบธรรมเนียมประเพณี ลายรามเกียรติ์ และลายการละเล่นของเด็กไทยยุคต่าง ๆ ในงานกระทุ่มแบนบ้านเราครั้งที่ 5 อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2545
ปี พ.ศ.2546 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดเบญจรงค์ลายรามเกียรติ์ ลายขนบธรรมเนียมประเพณีและลายการละเล่นของเด็กไทยยุคต่าง ๆ ในงานประเพณีลอยกระทงและงานกระทุ่มแบนบ้านเราประจำปี พ.ศ.2546 ณ เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน

การเผยแพร่ภูมิปัญญาสู่สาธารณชน
1. เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ ได้แก่ สถานีวิทยุคลื่นเมืองใหม่ 98.75 A.M. ปี พ.ศ.2548
2. สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น จังหวัดชลบุรี บริษัทเคเบิ้ลทีวีชลบุรี จำกัด ปี พ.ศ.2547
3. เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ http://www.thaitambon.com/ ปี พ.ศ.2547-ปัจจุบัน

สถานที่ตั้ง
166/62 หมู่ที่ 3 บ้านริมทะเล 2 ถนนพระยาสัจจา ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20000


การผลิตเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์ ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
การผลิตเครื่องเบญจรงค์ในปัจจุบัน เริ่มจากการหาวัตถุดิบที่เป็น เซรามิค (ceramic) ซึ่งนิยมที่เคลือบด้วยสีขาว ซึ่งมีหลากหลายชนิด เช่น Porcelain, Bonechina, Stone ware และอีกหลากหลายชนิด หลังจากเลือกชนิดของวัตถุดิบได้แล้ว ต่อจากนั้นก็เลือกรูปทรงของวัตถุดิบ ซึ่งมีหลากหลาย เช่น โถทรงต่าง ๆ หรือ ของใช้บนโต๊ะอาหาร (Table ware) หรือ เครื่องใช้ทางสังฆภัณฑ์ แรกเริ่มเดิมทีการเขียนเบญจรงค์เขียนด้วยพู่กันเลียนแบบลายมาจากจีน ได้พัฒนาจากลายจีนมาเป็นลายไทย เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของไทย แต่พู่กันเขียนลายไทยได้ไม่ละเอียด และสิ้นเปลืองทอง จึงหาวิธีและได้ค้นพบว่าเขียนด้วยเข็มฉีดยาด้วยเบอร์ 0.24, 0.25, 0.26 จะได้เส้นที่ละเอียด คมชัด ช่วยประหยัดน้ำทอง

การผลิตเครื่องเบญจรงค์
การผลิตเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์แบ่งออกเป็น 3 แบบ
1.เครื่องเบญจรงค์แบบมุก
2.เครื่องเบญจรงค์แบบสีบนเคลือบ
3.เครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน

ขั้นตอนการผลิตแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน เครื่องเบญจรงค์แบบมุกและแบบสีบนเคลือบ มีขั้นตอนการผลิตเหมือนกัน แต่การผลิตเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน จะมีความแตกต่างกัน กล่าวคือหลังจากการผ่านขั้นตอนการเขียนลวดลาย นำเครื่องเบญจรงค์ไปเผา จากนั้นก็นำมาเคลือบหรือสีน้ำทอง แล้วนำไปเผาอีกครั้ง เมื่อเผาเสร็จสามารถนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้ทันที การผลิตเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูนจะมีสีสันที่สวยงามกว่า ขั้นตอนการผลิตมีรายละเอียด ดังนี้
1. เตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิต
2. การเขียนลวดลาย
3. ลงสีลวดลายบนเครื่องเคลือบ
4. นำเข้าเตาเผา
5. เมื่อเผาเสร็จ ทิ้งไว้จนอุณหภูมิลด
6. นำออกจำหน่าย

การเตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตเครื่องเบญจรงค์

1. วัตถุดิบ ได้แก่ เครื่องเคลือบ สีน้ำทองและสีบนเคลือบ
1.1 เครื่องเคลือบ
เครื่องเคลือบหรือบางครั้งนิยมเรียกว่า เครื่องขาวหรือของขาว เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดหนึ่งที่เคลือบน้ำยาประเภทของเนื้อดินที่นำมาทำเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาวเพื่อผลิตเครื่องเบญจรงค์ คือ ดินเกาลิน เครื่องเคลือบแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.1.1 เครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลน เป็นเครื่องเคลือบที่ทำจากเนื้อดินเกาลินมีความเหนียวน้อย ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลนมีเนื้อดินละเอียด สีขาวใสมีความโปร่งแสงและไม่หนามากนักสามารถเก็บน้ำและความชื้นได้ดีเวลาเคาะจะมีเสียงดังกังวานมาก
1.1.2 เครื่องเคลือบประเภทโบนไชน่า เป็นเครื่องเคลือบที่ใช้ดินประเภทเดียวกับเครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลน แตกต่างโดยการผสมขี้เถ้ากระดูกลงไปในการผสมดินก่อนที่จะนำเนื้อดินมาปั้นเป็นเครื่องเคลือบ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ประเภทโบนไชน่า เป็นเครื่องเคลือบที่มีเนื้อผลิตภัณฑ์ละเอียดและมีน้ำหนักเบามากกกว่า เครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลน ราคาของเครื่องเคลือบประเภทพอร์ซเลนถูกกว่าราคาของเครื่องเคลือบประเภทโบนไชน่า แต่ลักษณะรูปแบบและตัวผลิตภัณฑ์มีความเหมือนกัน จากการศึกษาพบว่าประเภทและรูปแบบผลิตภัณฑ์ของเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาวกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์ได้สั่งซื้อโดยตรงจากจังหวัดลำปาง
รูปแบบเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาว
รูปแบบเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาว ที่ใช้ในผลิตเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์มี 2 แบบคือ แบบเคลือบเงา และแบบเคลือบด้าน โดยเครื่องเคลือบหรือเครื่องขาวทั้ง 2 แบบเมื่อนำมาผลิตเครื่องเบญจรงค์จะให้ความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป
1.2 สีน้ำทอง
สีน้ำทองเป็นสีชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการวาดลวดลายต่าง ๆ เพื่อตกแต่งผลิตภัณฑ์เพิ่มคุณค่า และความสวยงาม ความแวววาวของสีน้ำทองจะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของทองเป็นส่วนสำคัญโดยสีน้ำทองต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่สั่งซื้อจากประเทศ เยอรมัน ซึ่งสีน้ำทองของประเทศเยอรมันจะมีคุณภาพดีกว่า แต่ราคาจะแพงกว่าสีน้ำทองของประเทศอื่น สีน้ำทองที่จำหน่ายในตลาดมี 3 ประเภท ได้แก่ สีน้ำทองแบบมันวาว สีน้ำทองแบบด้าน และสีน้ำทอง แบบสว่าง
1.3 สีบนเคลือบ
สีบนเคลือบคือ สีที่มีส่วนผสมของออกไซด์ต่าง ๆ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการทางเคมี เป็นสีที่นำมาใช้เขียนสีบนเครื่องเคลือบ ส่วนใหญ่เป็นสีสำเร็จรูปแล้ว สีที่ใช้ในการผลิตจะมีหลากหลายสี มีทั้งแบบที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วและแบบที่ไม่มีสารตะกั่ว ชนิดของสีบนเคลือบที่ใช้
ในการผลิตเครื่องเบญจรงค์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.3.1 ชนิดผงสี เป็นสีแบบเคลือบชนิดทึบแสง โดยซื้อผงสีจากบริษัทผู้ผลิตสีซึ่งมีให้เลือกทุกเฉดสี ซึ่งมีมากกว่า 30 สี สีบนเคลือบมีการผลิตหลายรูปแบบเช่น ผลิตในรูปหลอด สีบนแท่ง เป็นแบบปากกาและดินสอ สีที่เป็นผง (สีฝุ่น) ราคาของสีที่ใช้นั้นจะแตกต่างกันไปแล้วแต่เฉดสี
1.3.2 ชนิดน้ำ เรียกว่า สีประกายมุกหรือสีลัสเตอร์ ลักษณะเป็นสีเหลืองรุ่งมีหลายสีหรือสีสันเหมือนปีกแมลงทับหรือเปลือกหอยมุกที่ให้สีเป็นสีรุ้งสีประกายมุกนี้ใช้ทาตกแต่งบนผิวเคลือบ ลักษณะของสีประกายมุกคล้ายน้ำมันชักเงา เวลาใช้ห้ามเขย่าขวดและกวนสีก่อนใช้ โดยใช้เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใส ๆ ที่อยู่ข้างบน สารที่ตกตะกอนด้านล่างไม่ต้องเขย่าขึ้นมา สีประกายมุกรวมตัวเป็นก้อนหรือวุ้นแสดงว่าเสื่อมคุณภาพ การเก็บรักษาสีบนเคลือบทั้งแบบชนิดผงและชนิดน้ำ ต้องเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ห่างจากแสงอาทิตย์ ถ้าปิดฝาไม่สนิทหรือวางเก็บไว้ในอุณหภูมิที่สูงเกินไปสีจะเสื่อมคุณภาพ ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก

ขั้นตอนการเตรียมสีบนเคลือบ
สีที่นำมาใช้จะต้องผ่านขั้นตอนการเผาสังเคราะห์ โดยบริษัทผู้ผลิตจะบรรจุขวดแยกประเภทของเฉดสีต่าง ๆ ไว้ ซึ่งผ่านการผสมสีน้ำเคลือบแล้ว

2. อุปกรณ์ในการผลิต
2.1 แป้นหมุน
2.2 พู่กัน
2.3 เข็มฉีดยา ใช้สำหรับเขียนลวดลาย
2.4 เตาเผา
2.1 แป้นหมุน เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับรองรับเครื่องปั้นเพื่อตกแต่ง มีลักษณะเป็นรูปวงกลมมีแกนอยู่ตรงกลาง แป้นหมุนที่ดีจะต้องมีความคล่องตัว เวลาหมุนรอบตัวได้นาน ประโยชน์ของแป้นหมุน คือ ช่วยในการเขียนลวดลายเครื่องเบญจรงค์ ประหยัดเวลาในการทำงานงานที่ออกมาเรียบร้อยสม่ำเสมอ
2.2 พู่กัน เป็นพู่กันที่ใช้สำหรับเขียนสีโดยเฉพาะ ควรเลือกใช้พู่กันชนิดที่มีขนยาวอ่อนนุ่ม จะช่วยอุ้มน้ำได้ดี โดยไม่ต้องจุ่มสีหลายครั้ง ขนาดของพู่กันจะแตกตางกันออกไปตาลวดลายนั้น ๆ พู่กันที่ใช้ในการเขียน คือพู่กันจีน มี 2 ขนาด คือ ขนาด M และ ขนาด L วิธีใช้ก่อนจะนำพู่กันไปใช้ต้องนำพู่กันไปจุ่มหรือแช่น้ำสะอาดประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนขนพู่กันอ่อนนุ่มสามารถนำมาใช้งานได้
2.3 เข็มฉีดยา ใช้เข็มฉีดยาเบอร์ 0.24, 0.25 , 0.26 ซึ่งจะได้เส้นที่ละเอียดคมชัดและช่วยประหยัดน้ำทอง โดยขั้นตอนในการนำมาประยุกต์ใช้เป็นปากกาเขียนสีน้ำทอง เริ่มต้นจากการนำเข็มฉีดยา มาตัดปลายเข็มในส่วนที่แหลมคอออก และนำกระดาษทรายขัดให้ปลายของเข็มลดความคมลง และการเก็บรักษาทำได้โดยการล้างด้วยน้ำสะอาดการนำเข็มฉีดยามาประยุกต์ใช้ทำให้สามารถเขียนทองที่มีลวดลายละเอียดได้ง่าย และวาดลวดลาย ต่าง ๆ ได้รวดเร็วกว่าการใช้พู่กันในอดีต
2.4 เตาเผา เตาเผาที่ใช้ในการผลิตเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์เป็นเตาเหล็กใช้ไฟฟ้าชนิดฝาเปิด-ปิดบน โดยอุปกรณ์เตาเผาประกอบด้วยแผ่นรองสำหรับใช้ในการเผา 2 แผ่นขาตั้งสำหรับรองแผ่นขนาดต่าง ๆ 24 ชิ้น เตาเผาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเป็นอุปกรณ์ใน การผลิตที่ซื้อใช้เพียงครั้งเดียวสามารถใช้งานได้โดยตลอด

การเขียนลวดลาย
ขั้นตอนการเขียนลวดลายเริ่มต้นด้วยการใช้อุปกรณ์คือเข็มฉีดยาที่มีการนำมาประยุกต์ ใช้เป็นปากกาสำหรับการเขียนทอง และสีน้ำทอง ซึ่งมีความข้นพอดีในการใช้งานก่อนใช้เขย่าขวดเพื่อให้สารละลายของทองที่เป็นโลหะหนักลอยตัวขึ้นมาทั่วทั้งขวด และก่อนการใช้ทุกครั้งต้องเช็ดทำความสะอาดที่บริเวณปากขวดไม่ให้มีคราบเก่าหรือฝุ่นติด และการเทสีน้ำทองมาใช้ในปริมาณมากเกิน กว่าระยะเวลาในการใช้ 30 นาทีจะทำให้สีทองเหนียวข้นและแห้งจนเขียนไม่ลื่น หลังจากเตรียม อุปกรณ์และสีเริ่มต้นขั้นตอนการเขียนทองโดยเทสีทองลงในเข็มฉีดยาแล้วเขียนลวดลายที่ต้องการ พู่กันที่ใช้เขียนสีทองต้องแยกเฉพาะไม่ปะปนกับสีอื่น การทำความสะอาดหลังใช้งานแล้ว ต้องล้างหรือแช่ในน้ำมันสนเท่านั้น และเมื่อล้างด้วยน้ำมันสนและแช่ในแอลกอฮอล์ เพื่อให้ขนพู่กันแห้งเร็วแล้วสะบัดขนแปรงให้แห้ง ในการเขียนสีทองต้องอาศัยความชำนาญในการทำ นำโถหรือผลิตภัณฑ์มาขึ้นแป้นวนแล้วใช้ปากกาหมึกซึมขีดกำหนดจุดช่องไฟและวาดลวดลายลงในช่องที่กำหนดไว้ เมื่อวาดลวดลายเสร็จวางทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เครื่องเคลือบที่ผ่านการเขียนลวดลายแล้วไปวางในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และวางผลิตภัณฑ์ห่างจากกัน เมื่อเคลือบแห้งแล้ว หลังจากนั้นนำเครื่องเคลือบที่ผ่านการเขียนทองไปลงสีลวดลายซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไป
สำหรับขั้นตอนการเขียนลวดลาย กรณีที่เป็นเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน หลังจากที่ลงสีน้ำทองเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไปเข้าเตาเผาก่อนเพื่อให้สีทองติดกับตัวผลิตภัณฑ์โดยขั้นตอนในการเผาจะเหมือนการทำเครื่องเบญจรงค์ โดยเผาที่อุณหภูมิประมาณ 700-800 องศาเซลเซียสเป็นเวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดทิ้งไว้จนอุณหภูมิลดต่ำลงด้วยการเปิดตู้เตาเผาทีละน้อยเพื่อระบายอากาศ หลังจากนั้นนำเครื่องเบญจรงค์ทองนูนมาเขียนลวดลายด้วยสีน้ำทองหรือ
สีบนเคลือบก่อนนำไปเผาอีกครั้ง
สำหรับความร้อนในการเผาด้วยเตาไฟฟ้า ถ้าเผาทอง จะใช้ความร้อนของเตาไฟฟ้า ที่อุณหภูมิ 720 – 750 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นการเผามุก จะใช้ความร้อน 750 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นเผาเบญจรงค์จะใช้ความร้อน 820-830 องศาเซลเซียส

ประเภทของลวดลาย
ส่วนใหญ่ลวดลายเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์ได้เขียนลวดลายในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ มโนราห์ พระอภัยมณี ลายดอกพิกุล ลายก้านขด ลายจักรี ลายเทพพนม ลายหน้าสิงห์ ลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายดอกโบตั๋น ลายบัว ลายนกยูง ลายผีเสื้อ ลายดอกไม้นานาพรรณ และลายเกี่ยวกับประเพณีไทยต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง ปีใหม่ และการละเล่นของเด็กไทย

การลงสีลวดลายบนเครื่องเคลือบ
การลงสีลวดลายบนเครื่องเคลือบขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องเบญจรงค์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
1. เครื่องเบญจรงค์แบบสีบนเคลือบและเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน
2. เครื่องเบญจรงค์แบบมุก

ขั้นตอนการลงสีลวดลาย แบ่งออกได้ดังนี้
1. การลงสีลวดลายบนเครื่องเบญจรงค์แบบสีบนเคลือบและเครื่องเบญจรงค์แบบทองนูน เริ่มต้นจากการใช้พู่กันจุ่มสีที่ต้องการแล้วค่อย ๆ ทาลงไปในลวดลายต่าง ๆ การลงต้องสม่ำเสมอและให้เฉดสีตามลายนั้น ๆ กรณีที่ต้องการลบสีบนเคลือบออกจากผิวเคลือบทำได้โดยใช้สำลีชุบวาสลีนเช็ดออก หลังจากที่ลงสีลวดลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์ที่ผ่านการลงสีลวดลายขึ้นแป้นหมุนอีกครั้ง แล้วใช้พู่กันเขียนสีทองลงบริเวณหัวจุกของผลิตภัณฑ์กรณีที่เป็นโถสี การลงสียังนิยมลงสีตามรูปแบบลวดลายแบบโบราณ ในปัจจุบันมีการพัฒนาสี
และค้นคิดการผสมสีบนเคลือบเชิงสร้างสรรค์มากกว่า 30 สี
2 . การลงสีเครื่องเบญจรงค์แบบมุก มีขั้นตอนการลงสีเช่นเดียวกับการลงสีลวดลายเบญจรงค์แบบสีบนเคลือบ แต่ใช้สีเฉพาะคือ สีลัสเตอร์หรือสีประกายมุก การลงสีให้ใช้พู่กันจีนเกลี่ยสีโดยเร็ว
การลงสีลวดลายบนเครื่อง เบญจรงค์ทุกประเภท ห้ามใช้พู่กันจีนจุ่มสีบนเคลือบจากขวดโดยตรง เพราะจะทำให้สีเสื่อมคุณภาพเร็วจะต้องเทสีใส่จานสีหรือถ้วยสีก่อนใช้ทุกครั้ง

การเผา
การบรรจุผลิตภัณฑ์ในเตาเผา ต้องคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเขียนลวดลายและลงสีก่อนนำไปเผาต้องแห้งสนิทและไม่มีรอยแตกร้าวปรากฏขนาดของผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกัน
การจับผลิตภัณฑ์ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง การจับหรือถือผลิตภัณฑ์ทำได้โดยการใช้มือข้างหนึ่งรองรับก้นภาชนะและมืออีกข้างหนึ่งพยุงตัวผลิตภัณฑ์ หลีกเลี่ยงการจับผลิตภัณฑ์โดย
ใช้มือโอบรอบหรือหิ้วการวางผลิตภัณฑ์บนชั้นของเตาสามารถวางซ้อนกันได้หรือวางให้ผิวผลิตภัณฑ์สัมผัสกัน เพื่อเป็นการประหยัดเนื้อที่ในการเผา การวางผลิตภัณฑ์บริเวณจุดกึ่งกลางของส่วนกลางของเตาเผาจะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุด การวางผลิตภัณฑ์ต้องมีชั้นเตาเว้น
ชั้นหนึ่งวางปิดผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการวางผลิตภัณฑ์จะวางเครื่องเคลือบไว้บริเวณจุดศูนย์กลางของเตาเสมอ
การเผาผลิตภัณฑ์
ก่อนนำผลิตภัณฑ์เข้าเตาเผา ต้องทำความสะอาดภายในเตาก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันกันเศษผงต่าง ๆ หล่นมาติดผลิตภัณฑ์ขณะเผา หลังจากการเผาเสร็จสิ้นต้องทิ้งเตาไว้ให้เย็นประมาณ 16 – 24 ชั่วโมง จึงค่อยเปิดเตานำเอาผลิตภัณฑ์ออกจากเตาได้ และนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้ทันที

เตาเผา
ประเภทสินค้าที่ผลิต ได้แก่ เต้าปูนใหญ่ โถมะยม โถจุกสิงห์ โถหมากรุก ฟักทอง มะยมใหญ่ โถทรงเต้าปูน โถชั้น กรวดน้ำ ม้าลายดอกไม้ลาย โถพลูลายจักรี ลายดอกโบตั๋น โถคอคอดลายดอกโบตั๋น แก้วน้ำลายก้านขดทองนูน ชุดบูชาพระลายดอกพิกุลทอง ปลาทองนูน ไก่ทองนูน ลายหอยสังข์ แจกัน ลายขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ เป็นต้น

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เส้นลายที่เขียนต้องใช้ลายทอง 12% ซึ่งสกัดมาจากทองจริง ๆ และลวดลายละเอียดอ่อนโดยเฉพาะเป็นลวดลายในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ลายขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยและลายการละเล่นของเด็กไทยในยุคต่าง ๆ ลวดลายดังที่กล่าวมานี้ก็ต้องลงลายไปในรูปทรงขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งวงการเบญจรงค์คิดว่าทำยากและเสี่ยงต่อการลงทุน

ปัญหาและอุปสรรคในการผลิต
น้ำทอง 12% และสีฝุ่นเคลือบมีราคาสูงมาก และต้องนำเข้าจากประเทศเยอรมัน ช่างเขียนและช่างลงสีต้องฝึกให้ชำนาญ

บทวิเคราะห์ ลักษณะเด่นของภูมิปัญญา
1. เป็นการคิดค้นหารูปแบบผลิตภัณฑ์และการเขียนลวดลายของผลิตภัณฑ์แบบต่าง ๆ
2. เป็นภูมิปัญญาที่มีพื้นฐานสืบทอดมานาน โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง
3. เป็นภูมิปัญญาจากการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยการสังเกต จดจำ และลงมือปฏิบัติจริง
4. ภูมิปัญญานี้มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ เป็นการผสมผสานกันระหว่างความรู้ ความชำนาญ ที่ได้รับการถ่ายทอด ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์จนทำให้มีชื่อเสียง และทำรายได้ให้กับครอบครัวชุมชนได้เป็นอย่างดี

กระบวนการถ่ายทอด
มีการถ่ายทอดความรู้เชิงช่างให้กับบุคคลผู้สนใจ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มาศึกษาดูงานทั้งที่เป็นการถ่ายทอดกับบุคคลในครอบครัว การถ่ายทอดจากเจ้าของร้านให้กับลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานในท้องถิ่น รวมทั้งการถ่ายทอดให้กับครูและนักเรียนที่สนใจเป็นการถ่ายทอดความรู้โดยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) ระยะต่อมามีการติดต่อเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้กับสถาบันการศึกษาตลอดจนบุคคลผู้สนใจในเรื่องเบญจรงค์ด้วย

การนำไปใช้ประโยชน์
ภูมิปัญญาการผลิตเบญจรงค์นี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เช่นใช้เป็นของที่ระลึก ของฝาก ตกแต่งบ้าน หรือนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เพิ่มความสวยงามให้แก่บ้านเรือน เป็นสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณี งานหัตถกรรมเบญจรงค์เป็นงานฝีมือที่มีความประณีต บ่งบอกถึงรสนิยมและความสนใจในงานฝีมือที่ละเอียด และสวยงาม ด้านคุณธรรมคุณงามความดี สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนเป็นสินค้าดีเด่น และทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดชลบุรี

การประยุกต์ใช้กับสังคมสมัยใหม่
ปัจจุบันการผลิตเบญจรงค์ได้มีการพัฒนาลวดลายต่าง ๆ ให้เข้ากับยุคสมัยและประโยชน์ในการใช้งานตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนารูปแบบเครื่องเบญจรงค์ พร้อมเขียนลวดลายใหม่และเก่าผสมผสาน แต่ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายประเพณีต่าง ๆ และลายที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่คือ ลายในวรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์ ลายขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ ของไทย นอกจากนี้ก็ยังเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องกระดาษ กล่องผ้ากำมะหยี่ กล่องกระจก เป็นต้น

กลวิธีการนำสินค้าชุมชนสู่ตลาดเมืองและตลาดโลก
ปัจจุบันสินค้าเป็นที่รู้จักกันดีไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ วิธีการส่งสินค้ามีวิธีการต่าง ๆ เช่น ตัวแทนส่งออก การสั่งซื้อและบริการส่งให้ถึงที่ การมารับสินค้าเองที่ร้าน การส่งสินค้าผ่านตัวแทน โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือถ้าสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากก็จะคิดราคา ขายส่ง นอกจากนี้ก็มีการจำหน่ายสินค้าและแหล่งผลิตเองการจำหน่วยตามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยการออกร้านนิทรรศการงานประจำปีของจังหวัดชลบุรี หรืองานประจำปีของจังหวัดอื่น เผยแพร่โดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต เช่น http://www.thaitambon.com/ หรือ http://www.thaibenjarong.com/

บทสรุป
จากการศึกษาภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเบญจรงค์ ของกลุ่มอาชีพไทยเบญจรงค์ ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมอย่างกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมจีน มาตั้งแต่สมัยอยุธยายาวนานจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เครื่องเบญจรงค์ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากสุดยอดช่างฝีมือทั้งไทยและจีน เพื่อเป็นภาชนะในราชสำนัก ตลอดจนเป็นเครื่องยศของพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์ เส้น สาย ลาย สี ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเชื่อมโยงศาสตร์วิทยาการงานผลิตเข้าหางานช่างศิลป์อย่างสุนทรีย์ ถ้วยแต่ละใบ ชามแต่ละชิ้นบอกเล่าเรื่องราวแห่งยุคสมัย เป็นสิ่งแสดงความลุ่มลึกแห่งภูมิปัญญาเป็นมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมถึงแม้ว่ารูปแบบของงานเบญจรงค์จะถูกพัฒนาไป แต่สิ่งที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและบ่งบอกความเป็นงานหัตถกรรมเบญจรงค์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือลักษณะวิธีการทำและองค์ประกอบที่ปรากฏอยู่บนภาชนะรูปแบบต่าง ๆ ที่ควรค่าแก่การส่งเสริมและอนุรักษ์ไม่ให้ศิลปวัฒนธรรมสูญหายไป และยังมีการสืบทอดเจตนารมณ์การผลิตเครื่องเบญจรงค์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในชุมชนต่างๆตามหลักวาทกรรมที่ว่า“เบญจรงค์เป็นหัตถกรรมของไทยแท้แต่โบราณการผลิตเบญจรงค์ในปัจจุบันเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองมาแต่อดีตของไทยและคนไทยจำเป็นต้องรักษารูปแบบประเพณีนิยมที่สืบทอดต่อกันมา ตั้งแต่โบราณกาลไว้ให้คงอยู่คู่เมืองไทย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นถือเป็นมิติทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมาตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน สังคมจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญา และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองได้ จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็งส่งผลต่อชุมชนในภาพรวม ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้

--------------------------
บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.thaitambon.com/ [11 กันยายน 2551].
ณัชชา เข็มเจริญ.การผลิตและการตลาดเครื่องเบญจรงค์ของกลุ่มสตรีสหกรณ์:กรณีศึกษากลุ่มสตรีสหกรณ์พัฒนาบางโทรัด. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , 2548.
เถกิง พัฒโนภาษ และ พิม คงแสงไชย. การออกแบบเบญจรงค์ร่วมสมัยสำหรับการส่งออก. รายงานการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.
ประวัติเครื่องเบญจรงค์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.cityofbenjarong.com/ [11 กันยายน 2551].
สำนักงานเทศบาลตำบลเสม็ด. ข้อมูลทั่วไปแผนที่เขตเทศบาลตำบลเสม็ด [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.samed.go.th/ [11 กันยายน 2551].
สุรีย์ภรณ์ แจ่มประจักษ์. การพัฒนารายการวีดิทัศน์ เรื่อง เบญจรงค์ : ของดีที่ท่าเสา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดท่าเสา จังหวัดสมุทรสาคร.
วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง พญาคันคาก


นิทานพื้นบ้าน เป็นรูปแบบของการเล่าเรื่องราวที่บรรพบุรุษแต่งและเล่าสืบทอดต่อ ๆ กันมา มีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิง และผลพลอยได้จากการฟังนิทานคือการได้รับข้อคิดและคติธรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ฉะนั้น ในอดีตนิทานจึงมีบทบาทในการขัดเกลานิสัยของอนุชนอีกส่วนหนึ่งด้วย
ปัจจุบันความบันเทิง และความก้าวหน้าทางวิทยาการ ทำให้มนุษย์สร้างสิ่งที่ให้ความ จึงมีผู้นำเอานิทานพื้นบ้านมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โทรทัศน์ ในรูปแบบของการเสนอคติธรรมรูปแบบใหม่ เพื่อสอดคล้องกับความเจริญทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน นอกจากนี้นิทานพื้นบ้านยังมีความสำคัญ ต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยาเพราะนิทานพื้นบ้านได้แทรกวิถีชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ของชาวบ้านไว้ และสามารถใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมพื้นบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าบทบาทของนิทานพื้นบ้าน ในปัจจุบันจึงมีความสำคัญต่อการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ ได้เป็นอย่างดี
นิทานพื้นบ้านอีสาน เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของสังคมชาวอีสานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชนะภัยธรรมชาติ คือ ความแห้งแล้ง การอพยพย้ายถิ่น ที่อยู่อาศัย ความเชื่อและความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา การยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญา เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นที่จดจำสืบทอดกันมาจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง หากเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้รับการสืบทอด หรือบันทึกไว้ มรดกภูมิปัญญาเหล่านี้ก็จะหายไปจากสังคม

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน
ความหมายของนิทานพื้นบ้าน
คำว่า นิทาน หมายถึง เรื่องที่เล่ากันมา (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 : 588)
นิทานถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะ กล่าวคือ มีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งด้วยวิธีการจดจำและเล่าสืบต่อกันมา แต่ก็มีจำนวนมากที่ได้รับการบันทึกไว้แล้ว ดังนั้น นิทานจึงเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา เพื่อให้เกิดความสนุกสนานและความพอใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง ซึ่งนิทานเหล่านี้จะปรากฏในสังคมพื้นบ้านท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทย จึงเรียกว่า “นิทานพื้นบ้าน”

ลักษณะของนิทานพื้นบ้าน
1. เป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา เป็นภาษาร้อยแก้ว ไม่ใช่ร้อยกรอง
2. เล่ากันด้วยปากต่อปากสืบมาเป็นเวลาช้านาน แต่ต่อมาอาจใช้การเขียนขึ้นตามเค้าเดิมที่เคยเล่าด้วยปากเปล่า
3. ไม่ปรากฏว่าผู้เล่าดั้งเดิมเป็นใคร อ้างแต่ว่าเป็นของเก่า

ประเภทนิทานพื้นบ้าน นิยมแบ่งตามรูปแบบของนิทาน ดังนี้
1. เทพนิยาย เป็นนิทานที่แพร่หลายมากที่สุด ลักษณะที่สำคัญของเทพนิยาย คือ ตัวละครจะต้องผจญภัย มีของวิเศษ หรือมีปาฏิหาริย์มากมาย ตัวละครมักเป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย
2. นิทานชีวิต เป็นนิทานที่เชื่อว่าเป็นความจริง
3. นิทานวีรบุรุษ เป็นนิทานที่กล่าวถึงพฤติกรรมที่เป็นวีรบุรุษของท้องถิ่น โดยเชิดชูในเรื่องความกล้าหาญ ความสามารถในการปกครองบ้านเมือง
4. นิทานประจำถิ่น เป็นนิทานที่เกี่ยวข้องกับชื่อสถานที่ มักกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ ความเชื่อ เรื่องลึกลับ ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ
5. นิทานอธิบายเหตุ เป็นนิทานที่พยายามอธิบายสิ่งที่มนุษย์สงสัยและหาคำตอบไม่ได้
6. ตำนานและเทวปกรณ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรม ในสมัยโบราณ
7. นิทานสัตว์ เป็นนิทานที่มีสัตว์เป็นตัวเอก และเป็นตัวจำลองพฤติกรรมของมนุษย์
8. นิทานมุขตลก เป็นเรื่องตลกเพื่อความสนุกสนานและได้แง่คิด
9. นิทานคติ เป็นนิทานที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดคำสอน เช่น การทำดี
10. นิทานเข้าแบบ เป็นนิทานที่มีแบบสร้างพิเศษ เช่น สามารถเล่าต่อกันเป็นลูกโซ่

ตัวละครในนิทานพื้นบ้าน
ตัวละคร อาจเป็นเทวดา ผี มนุษย์ หรือสัตว์ก็ได้ จุดมุ่งหมายของตัวละคร คือต้องการให้แง่คิดแก่ผู้ฟังในสิ่งดีและไม่ดี

บทบาทของนิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้านที่เล่า ๆ สืบต่อกันมา มีบทบาท ดังต่อไปนี้
1. เพื่อสร้างความเพลิดเพลิน ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังจะได้รับความเพลิดเพลิน
2. เพื่อจุดมุ่งหมายแฝงเร้นแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เป็นสิ่งที่ปรารถนาของสังคมเพื่อให้สังคมนั้น ๆ ได้นำไปประพฤติปฏิบัติ เช่น กรรมและกฎแห่งกรรม ความกตัญญูกตเวที การระมัดระวังคำพูด ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ เป็นต้น
3. เพื่อการศึกษา เป็นเรื่องที่เน้นให้เห็นความสำคัญของการศึกษา
4. เพื่อเหตุผลในการประกอบพิธีกรรม ให้เห็นความสำคัญของพิธีกรรมว่าพิธีกรรมที่สังคมประพฤติปฏิบัติ นั้น มีความสำคัญต่อชุมชนอย่างไร
5. เพื่อระบายความเก็บกดต่าง ๆ
6. เพื่อบันทึกประเพณี ศาสนา คติความเชื่อ

นิทานพื้นบ้าน เรื่องพญาคันคาก (คางคก)
ที่มาของเรื่อง
เชื่อกันว่าเป็นเรื่องชาดก และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อใช้ในพิธีขอฝน

ต้นฉบับ เป็นคัมภีร์ใบลานได้มาจากวัดโจดนาห่อม ต. คลีกลิ้ง อ. ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2535

เรื่องย่อ
พระนางแก้วเทวี มเหสีแห่งพญาเอกราชเจ้าเมืองอินทปัตถ์นคร ได้ประสูติพระโอรส ซึ่งมีผิวพรรณเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่ว่ามีผิวหนังดุจคางคก และในวันที่พระกุมารประสูติ เกิดอัศจรรย์ ขึ้นบนพื้นโลก ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เปรี้ยงปร้าง ลมพายุพัดต้นไม้หักล้มระเนระนาด เสียงดังสนั่นหวั่นไหวราวกับว่าโลกจะถล่มทลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญลงมาเกิด พระยาเอกราชได้จัดหาหญิงสาว ที่มีลักษณะดี เช่น มีถันเต่งตึงกลมงาม มาเป็นแม่เลี้ยงนางนมแก่พระกุมาร เมื่อพระกุมารเจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่ม ก็คิดอยากจะได้คู่ครอง และอยากได้ปราสาทเสาเดียวไว้เป็นที่ประทับ จึงเข้าเฝ้าและทูลขอให้ พระบิดาช่วย ฝ่ายบิดาเห็นว่าพระโอรสของตนมีรูปร่างผิดแผกแตกต่างไปจากคนทั่วไป คงไม่มีหญิงใดปรารถนาจะได้เป็นคู่ครอง จึงทรงบอกให้พระกุมารเลิกล้มความคิดเช่นนั้นเสียโดยให้เหตุผลว่าพระกุมารมีรูปร่างอัปลักษณ์ ทำให้พระกุมารเสียพระทัยยิ่งนัก
ต่อมาในกลางดึกสงัดของคืนวันหนึ่ง พระกุมาร จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าตนเคยได้สร้าง สมบุญบารมีมา ก็ขอให้สำเร็จดังความปรารถนาด้วยเถิด ด้วยแรงอธิษฐานทำให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งของพระอินทร์เกิดแข็งกระด้างขึ้น พระอินทร์จึงลงมาเนรมิตปราสาทเสาเดียวอันงดงามหาที่เปรียบไม่ได้ พร้อมด้วยข้าทาสบริวาร เครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งล้วนแล้วไปด้วยทิพย์ปานประหนึ่งเมืองสวรรค์ และยังได้เอานางแก้วจากอุดรกุรุทวีปมามอบให้เป็นคู่ครอง ก่อนจาก ได้เนรมิตพระกุมาร ให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พญาเอกราชเห็นประจักษ์ในบุญบารมีของลูก จึงยกราชสมบัติบ้านเมืองให้ครอบครอง
เมื่อพระกุมารได้ครองราชย์แล้ว เจ้าเมืองทั้งหลายในชมพูทวีปต่างก็มาขออยู่ภายใต้ ร่มบารมี แม้พวกพญาครุฑ พญานาค พญาหงส์ เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ เช่น ช้าง ม้า เสือ สิงห์ กระทิง แรด ลงไปถึงกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ผึ้ง ต่อ แตน มด ปลวก ต่างก็พากันมาถวายตัวเป็นบริวารจนหมดสิ้น ทำความไม่พอใจให้พญาแถนเป็นยิ่งนัก พญาแถนจึงไม่ยอมให้พวกพญานาคลงเล่นน้ำ เป็นเหตุ ให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกลงมายังโลกมนุษย์เป็นเวลาหลายปี ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเหี่ยวเฉา ตาย มนุษย์และเหล่าสัตว์ต่างพากันเดือดร้อน จึงไปทูลให้พญาคันคากทราบ พญาคันคากจึงไปยังเมืองบาดาลถามพวกนาคดู เมื่อรู้เหตุที่ทำให้ฝนแล้งแล้ว พญาคันคากจึงยกทัพอันประกอบไปด้วยมนุษย์ และเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกขึ้นไปทำสงครามกับพวกพญาแถน
พญาคันคากกับพญาแถน ได้ต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เมื่อพญาแถน เห็นว่า จะเอาชนะพญาคันคากด้วยฤทธิ์เดชไม่ได้ จึงท้าให้ชนช้างกัน ในที่สุดพญาคันคากชนะ จึงจับพญาแถนและให้พญานาคจับมัดไว้ พญาแถนจึงขอยอมแพ้ และขอมอบถวายบ้านเมืองให้ และสัญญาว่าจะส่ง น้ำฝนลงมาให้ตามฤดูกาลดังเดิม และจะลงมาปลูกพันธุ์ข้าวทิพย์ลูกเท่ามะพร้าวให้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พอถึงฤดูกาลทำนา ฝนก็ตกลงมายังให้ความชุ่มชื้นแก่แผ่นดินเป็นประจำทุกปี
พญาคันคาก ปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ถือศีลภาวนา สร้างบุญกุศล อยู่มิได้ขาด ทำให้ชาวประชาร่มเย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า พระองค์ทรงพระชนมายุได้แสนปีจึงสวรรคต หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวโลกก็ได้อาศัยหนทางที่ พระยาคันคากสร้างไว้ขึ้นไปเรียนเอาเวทย์มนต์คาถาจากพวกพญาแถน เมื่อลงมายังโลกแล้วก็ใช้คาถาอาคมที่ตนเองเรียนมาจากครูบาอาจารย์เดียวกันรบราฆ่าฟันกันล้มตายเป็นจำนวนมากต่อมาก และพวกมนุษย์ยังพากันเกียจคร้านไม่เอาใจใส่เรือกสวนไร่นา เมื่อข้าวกล้าที่พญาแถนปลูกไว้ตามที่สัญญากับพญาคันคากสุกแก่เต็มที่แล้ว ก็ไม่พากันทำยุ้งฉางไว้ใส่ มิหนำซ้ำ ยังพากันโกรธแค้นที่ให้เมล็ดข้าวเท่าลูกมะพร้าว จึงช่วยกันสับฟัน จนแตกเป็นเม็ดเล็ก เม็ดน้อย เมล็ดข้าวจึงกลายเป็นเมล็ดเล็ก ๆ ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ จากนั้นมาข้าวจึงไม่เกิดเอง มนุษย์ต้องหว่าน ไถ ปัก ดำ จึงจะได้ข้าวมากิน
เมื่อพญาแถนเห็นชาวโลกละเลยศีลธรรม ไม่ตั้ง ตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม พญาแถนจึงทำลายเส้นทางติดต่อระหว่างชาวโลกกับพวกแถนเสีย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวโลกจึงไม่อาจขึ้นไปยังเมืองฟ้าพญาแถนได้อีก

บทวิเคราะห์เรื่องพญาคันคาก ในเชิงวรรณกรรม
จุดมุ่งหมายในการประพันธ์

วรรณคดีอีสานทั่ว ๆ ไปมักไม่ปรากฏที่มาของเรื่อง ผู้แต่ง ตลอดจนความมุ่งหมายโดยชัดแจ้ง เรื่องพญาคันคาก เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมาเป็นเวลานาน สิ่งที่พอจะบ่งบอกให้ทราบได้มีเพียงชื่อผู้จาร ชื่อผู้สร้างใบลานถวายวัด วันเดือนปี ชื่อจาร ความประสงค์ที่จารและจัดสร้างใบลานถวายวัด บ่งบอกไว้ชัดเจน มูลเหตุที่นักปราชญ์แต่งหรือประพันธ์เรื่องนี้ น่าจะสันนิษฐานได้ดังนี้
1. จุดมุ่งหมายเพื่อการสั่งสอน ซึ่งชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นนิทานชาดกเนื่องจากพญาคันคาก คือพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นคางคก บำเพ็ญบารมีเพื่อช่วยเหลือมนุษย์โดยไปรบพญาแถนได้ชัยชนะพญาแถนจึงปล่อยน้ำฝนให้มนุษย์ได้ทำนา จึงเป็นวรรณกรรมเพื่อการสั่งสอนเพราะพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ประพฤติแต่สิ่งดีงาม
2. เพื่อใช้ในพิธีขอฝน เนื่องจากพญาคันคากเป็นวรรณกรรมที่ใช้เทศน์ในพิธีของฝนและใช้เทศน์ในพิธีการแห่บั้งไฟ การเทศน์เพื่อขอฝนมี 2 ลักษณะคือ เมื่อเกิดฝนแล้งจึงจัดพิธีเพื่อขอให้ฝนตกอีกประการหนึ่งไม่ว่าจะเกิดฝนแล้งหรือไม่ก็ตาม ก็จัดให้มีการเทศน์ก่อนเพื่อการขอล่วงหน้า จึงน่าจะสันนิษฐานว่าพญาคันคากมีจุดมุ่งหมายในการแต่งเพื่อนำไปเทศน์ในพิธีการขอฝน
3. เพื่อตอบสนองความเชื่อและตอบปัญหาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ อันหาคำตอบไม่ได้เพราะในอดีตชาวอีสานใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมากกว่าเทคโนโลยีอย่างในปัจจุบัน ชาวนาใช้ควายไถนารอฝนฟ้าเพื่อการเพาะกล้า รอแสงแดดจากดวงอาทิตย์เพื่อทำให้กล้าเจริญเติบโต อีสานประสบปัญญาฝนแล้งมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าวเป็นปัจจัยที่สำคัญเพื่อการยังชีพและน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของเกษตรกรชาวอีสานได้แต่รอคอยด้วยความหวังโดยไม่ทราบว่าทำไมฝนยังไม่ตก บางปีฝนดีบางปีฝนแล้งพญาคันคากจึงเป็นนิทานที่เกิดขึ้นเพื่อตอบปัญหาดังกล่าว

ลักษณะของวรรณกรรม เป็นวรรณกรรมประเภทนิทานชาดก แต่งเป็นลักษณะร้อยกรอง

รูปแบบตัวอักษรและอักขระ ภาษาที่ใช้ในการประพันธ์
อักษรที่ใช้จารเป็นอักษรไทยน้อยและอักษรธรรมอีสาน อักษรที่จารนั้นจะไม่มีวรรณยุกต์ การสะกดการันต์จะเขียนแบบง่าย ๆ อักษร ร ล กล้ำ มีบ้างแต่ไม่มาก มักตัดให้สั้นลง เช่น ไกล – ไก กว้าง – ก้วง เป็นต้น

รูปแบบคำประพันธ์ใช้ฉันทลักษณ์แบบโคลงสาร หรือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า “กลอนลำ” ซึ่งเป็นคำโคลงโบราณ กฎเกณฑ์ของโคลงสาร มีดังนี้
1. คณะของโคลงสาร บท หนึ่ง มี สองบาท บาทหนึ่งมี 7 คำจะรวมเป็นวรรคเดียว หรือแบ่งเป็น 2 วรรค คือวรรคหน้า 3 คำ วรรคหลัง 4 คำก็ได้ นอกจากนี้สร้อยคำเพิ่มได้อีกข้างหน้าและข้างหลัง
2. กำหนดเอก -โท บทเอก กำหนดเอก 3 ตำแหน่ง โท 2 ตำแหน่ง ส่วนบทโทกำหนดเอก 3 ตำแหน่ง และโท 3 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีคำสร้อยได้ทุกวรรค ข้างหน้า 2-3 คำ ข้างหลังอีก 2 คำ
ตัวอย่าง
(บทเอก) บัดนี้ จักกล่าวถึง ราชาไท้ นามมะหน่อโพธิสัตว์
พระก็ ทรงวิมาน อยู่สวรรค์เมืองฟ้า
(บทโท) มีหมู่ นารีแก้ว สาวสนมสามหมื่น
งามยิ่งย้อย แฝงเฝ้าแก่บา.
(พญาคันคาก)

บทวิเคราะห์เรื่องพญาคันคากในเชิงสังคม
1. วิถีชีวิต ชาวอีสานมีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง
2. ค่านิยม ค่านิยมของสังคมที่ปรากฏในเรื่องพญาคันคาก สะท้อนให้เห็นค่านิยมของสังคม ดังนี้
- การมีลูก สังคมอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรม ประกอบอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการทำนาต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ครอบครัวอีสานจึงนิยมมีลูกมาก รวมทั้งต้องปรนนิบัติดูแลบิดามารดาในเรื่องนี้กล่าวถึงสาวแถนที่อยู่กินกับหนุ่มเมืองชมพูแต่ไม่มีลูก เมื่อหนุ่มเมืองชมพูกลับบ้านเมืองของตนสาวแถนต้องอยู่คนเดียวไม่มีคนดูแล
- การรักษาศักดิ์ศรีของสตรี ชาวอีสานถือว่าผู้หญิงหรือผู้ชายจะอยู่กินฉันสามีภรรยาต้องให้ผู้ใหญ่รับรู้ก่อนและสู่ขอกัน ถ้าไม่ทำตามผู้หญิงจะถูกสังคมตำหนิ ในเรื่องพญาคันคาก ผู้แต่งได้กล่าวถึงค่านิยม เรื่องการรักษาศักดิ์ศรีของสตรี ตอนที่พระอินทร์อุ้มนางอุดรอุรุทีปมาแล้ว ก็ไม่นำไปให้พญาคันคาก โดยทันทีแต่จะพาไปไว้อีกห้อง ให้ถือศีลเป็นคนดี แล้วจึงไปอุ้มพญา คันคากไปหานาง
- การบวช ผู้ชายต้องบวช ทดแทนบุญคุณพ่อแม่และนิยมบวช ก่อนแต่งงาน ในเรื่องพญาคันคาก กวีได้บรรยายความรู้สึกของพญาคันคาก ว่าเป็นคนชั่วเพราะไม่ได้บวชทดแทนบุญคุณของพญาเอกราช และพระนางแก้วเทวีเสียก่อนแล้วจึงแต่งงาน
3. ความเชื่อ
- ความเชื่อเรื่องแถน เชื่อว่าแถนคือเทพแห่งฝนมีหน้าที่ควบคุมให้นาคลงเล่นน้ำ ทำให้เกิดฝนแก่มนุษย์หากแถนไม่ให้นาคลงเล่นน้ำฝน ฝนก็จะไม่ตก โลก ก็จะเกิดความ แห้งแล้งมีความทุกข์ยาก อดอยาก
- ความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ เชื่อว่าพระโพธิสัตว์คือผู้ที่จะเข้าถึงพุทธภาวะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระโพธิสัตว์ตามความเชื่อของชาวอีสานที่ปรากฏในเรื่องนี้คือเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ เนรมิตกายเป็นคางคก จุติลงมาเกิดในครรภ์นางมเหสีเทวี เพื่อจะบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือให้ชาวโลกหลุดพ้นภัยแล้ง
- ความเชื่อเรื่องนาค ชาวอีสานเชื่อว่าน้ำฝนเกิดจากการเล่นน้ำของนาค และเสียงฟ้าร้องเกิดจากการที่นาคเอาหางตีนาค น้ำจะกระเซ็นไปถูกเขาพระสุเมรุเกิดเสียงดัง เรียกว่าฟ้าร้อง และต่อมาก็จะทำให้ฝนตก
- ความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ฟ้าแลบ เกิดจากแสงของดวงแก้วที่เมฆขลาถือหลบหลีกพญายักษ์ เป็นต้น
- ความเชื่อเรื่องฝัน ชาวอีสานเชื่อว่าฝันนั้นสามารถบอกเหตุดีเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น เช่น พระนางแก้วเทวี ฝันว่าพระอาทิตย์ตกลงมาเข้าปากนาง ก็กลืนลงไปในท้อง ผิวเนื้อของนางจึงเหลืองดั่งทอง พญาเอกราชแก้ว่าจะได้ลูกชายที่มีบุญและได้เป็นที่พึ่ง
- ความเชื่อเรื่องพระอินทร์ เชื่อว่าพระอินทร์เป็นเทพที่ทรงความดีคอยช่วยเหลือผู้มีบุญ คือพระโพธิสัตว์ เช่น ช่วยสร้างปราสาทให้พญาคันคาก
- ความเชื่อเรื่องบาปบุญนรกสวรรค์ จากเรื่องของพญาคันคาก สรุปได้ว่ามีความเชื่อเรื่องสวรรค์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเทพและเทวดา เมื่อยังมีชีวิต ถ้าได้ประกอบกรรมดี ความดีนั้นก็จะส่งผลให้เกิดเป็นเทพเทวดาอยู่ในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ส่วนความเชื่อเรื่องบาปและนรกนั้นจะอยู่คู่กัน
4. วัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องพญาคันคาก มี ดังนี้
- วัฒนธรรมการกินอาหาร จะเห็นว่าชาวอีสาน รับประทานอาหารด้วยมือ ส่วนใหญ่รับประทานข้าวเหนียว ภาชนะที่ใส่อาหาร จะเรียกว่า “พา” ประเภทอาหารที่ทำ มีลาบ ก้อย ปิ้ง หมก ต้ม จากประเภทอาหารที่ปรากฏก็ทำให้ทราบว่าต้องรับประทานกับข้าวเหนียวแน่นอน
- วัฒนธรรมการกินหมาก สังคมอีสานจะกินเป็นอาหารว่างขบเคี้ยวเล่น หรือ อาจจะกินหลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เช่น พญาเอกราชและพระนางแก้วเทวี รับประทานอาหารเสร็จแล้วก็กินหมาก
5. ประเพณีและพิธีกรรมที่ที่เกี่ยวข้อง
- ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือน 6
ชาวอีสานมีความเชื่อว่า การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อเป็นการเตือนพญาแถนให้ทราบว่าชาวบ้านชาวเมืองกำลังเดือนร้อน ต้องการน้ำฝนเพื่อการปลูกพืชและถึงฤดูกาลทำนาแล้ว ชาวอีสานจึงต้องทำบั้งไฟ จุดให้พุ่งขึ้นไปบนฟ้าเสมือนหนึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพญาแถน
- พิธีบายศรีสู่ขวัญ ในวรรณกรรมเรื่องนี้ได้กล่าวถึงพิธีบายศรีสู่ขวัญ ตอนที่พญาเอกราช ยกทัพไปต่อสู้กับพญาแถน แล้วได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นกลับลงมายังโลกมนุษย์ พระราชบิดาก็ทำพิธีบายศรี สู่ขวัญให้กับพญาเอกราชและบริวาร เป็นการเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตัว
6. คุณค่าทางสังคม
- การเมืองและการปกครอง
รูปแบบการปกครองเป็นแบบนายกับไพร่ มีผู้ปกครองเป็นธรรมราชาตามฮีตคอง ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติของคนตามวัยและฐานะ เมื่อปฏิบัติตามแล้วจะทำให้บุคคลนั้นเกิดความสุข ความเจริญ
- อาชีพ อาชีพหลักของชาวอีสานคือการทำนา การทำนาต้องอาศัยน้ำฝนลักษณะของฝนตกไม่สม่ำเสมอบางปีน้อย บางปีมาก บางปีก็ท่วม เมื่อฝนตกดี สม่ำเสมอเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ชาวอีสานก็มีความอุดมสมบูรณ์เม็ดข้าวที่ได้ก็เม็ดใหญ่ เมื่อฝนแล้งเม็ดข้าวก็เล็กไม่สมบูรณ์เพราะฝนทิ้งช่วงต้นกล้าเกิดการชะงักการเจริญเติบโต และอีสานนั้นมีสภาพแล้งมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานเชื่อว่าเดิมคนอีสานสามารถติดต่อกับแถนได้ ปัจจุบันติดต่อไม่ได้เพราะชาวอีสานประพฤติปฏิบัติสิ่งที่แถนไม่พอใจ อีสานจึงประสบความแห้งแล้ง จึงพากันจัดพิธีบวงสรวงอ่อนน้อมต่อแถนต่าง ๆ มากมายเพื่อให้แถนพอใจ ชาวอีสานจะได้ทำนามีข้าวกิน
- สิ่งก่อสร้าง สังเกตได้ว่าสิ่งก่อสร้างในเรื่องพญาคันคาก ได้กล่าวถึงปราสาทเสาเดียว และมักจะก่อด้วยหินศิลาแลง มีขนาดใหญ่โตสวยงาม น่าจะสันนิษฐานว่ากวีได้มาจากสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏ บริเวณภาคอีสานนั้นจะพบปราสาทหินต่าง ๆ มากมายที่ใหญ่โตและสวยงามมาก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น
7. หลักธรรมคำสอนที่ปรากฏในเรื่องพญาคันคาก
- หลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม ในเรื่องนี้ได้อธิบายถึงความเชื่อเรื่องการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วไว้อย่างชัดเจน เพราะบุคคลเชื่อว่าผลของการกระทำอันเกิดจากการทำกรรมดีนั้นสามารถส่งเสริมให้ได้รับความสำเร็จในชีวิตทุกอย่าง และผลที่เกิดจากกรรมชั่วทำให้ชีวิตได้รับความทุกข์ เช่น การได้ครองบ้านครองเมืองก็ขึ้นอยู่กับเรื่องของบุญกรรม ดังที่พญาเอกราชกล่าวแก่พญาคันคากว่า …บุญเฮามีซิได้นั่งแท่นแก้ว คองบ้านแต่งเมืองเจ้าเอย. หมายถึง ถ้าเรามีบุญญาธิการจะได้ปกครองบ้านเมือง และการจะมีคู่ครองได้อย่างสมใจขึ้นอยู่กับผลบุญทุกชาติทุกภพมาส่งเสริมจึงจะสมประสงค์หรือการที่พระอินทร์มาเนรมิตปราสาทแก้วให้นั้น ก็เพราะผลบุญแต่ชาติปางก่อนของพญาคันคากที่ได้รักษาศีลห้าทำบุญทำทาน
- หลักกุศลกรรม
คือ รู้จักประพฤติตน มีความพากเพียร สำรวมกาย วาจา และใจ ดังที่พญาคันคากได้รับฟังพระราชบิดาสอนว่า จงรู้จักเจียมตัว ไม่พูดจาโอ้อวด หมั่นเพียรในการทำบุญ คนทำดีนั้นไม่ต้องโอ้อวด คนดีไม่ว่าจะตกอยู่ที่ใด ค่าของความดีก็ยังเหมือนเดิม ศีลห้า ศีลแปด ความกตัญญูและการทำทานในเรื่องนี้ได้กล่าวถึงในลักษณะที่ผู้ใดได้ปฏิบัติจะได้รับความสุขทั้งในชาตินี้และชาติหน้า พญาคันคากทรงสั่งสมบุญบารมีและสั่งสอนชาวโลกให้ทำบุญทำทานรักษาศีลจนส่งผลให้ชมพูทวีปเต็มไปด้วยความร่มเย็นเป็นสุขและได้สอนพญาแถนหลังรบชนะ
- หลักสัจธรรม คือ ไตรลักษณ์ ซึ่งได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มนุษย์ไม่ควรยึดมั่นในทุกสิ่ง มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิด อย่างเช่น วรรณกรรมเรื่องนี้ที่พญาเอกราช และนางสีดาแม้มีอายุอยู่ถึงแสนปีในที่สุดก็ต้องตาย
- หลักการครองเรือน ซึ่งปรากฏตอนพญาคันคาก สอนแถนว่าอย่าทะเลาะกันแต่ถ้าหากมีปากเสียงกันหากสามีโมโหด่าว่าให้ภรรยาเงียบไว้อย่าได้โต้เถียง
- ความกตัญญูกตเวที เช่น ตอนที่พญาคันคากทูลขอให้พญาเอกราชผู้เป็นบิดาหาพระชายาให้ พญาคันคากก็ได้ระลึกถึงพระคุณบิดามารดา นอกจากนี้ยังสอนแถนให้รู้จักบุญคุณของเมืองมนุษย์ที่ตนเคยเกิด และได้สร้างบุญจนได้เกิดเป็นแถน
- หลักทศพิธราชธรรม คือ หลักธรรมสำหรับการปกครองของพระราชา 10 ประการ ได้แก่ ทาน การรักษาศีล การปฏิบัติตามศีล 5 การรู้จักเสียสละ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การรู้จักมีเมตตาต่อสัตว์และมนุษย์ การมีสัจจะ เป็นต้น ตัวอย่างในวรรณกรรมเรื่องนี้ได้กล่าวถึงเรื่องการมีสัจจะ ตอนที่พญาแถนได้สัญญากับพญาเอกราชหลังจากที่รบแพ้ว่าจะยอมส่งน้ำฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ดังเช่นทุกปี และพญาแถนก็ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ในเรื่องนี้พญาเอกราชปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ทำให้ราษฎรมีแต่ความสุข ในสังคมปัจจุบันถ้าหากบุคคลใดได้นำเอาหลักทศพิธราชธรรมมาประพฤติปฏิบัติก็จะทำให้บุคคลนั้นประสบแต่ความสุข ความเจริญ
- ความสามัคคี พญาคันคากเป็นผู้ประกาศให้คนและสัตว์รวมตัวกันสร้างถนนหนทาง จับอาวุธขึ้นไปสู้รบกับพญาแถนที่สวรรค์เทวโลก จนได้รับชัยชนะและมีฝนตกลงมายังโลกมนุษย์นั้น เป็นเพราะความสามัคคี ความพร้อมใจกัน ท่านผู้ประพันธ์ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้สังคมชาวอีสานจะดำรงชีพอยู่ได้เพราะการพึ่งพาธรรมชาติ ถ้าหากทุกคนในสังคมร่วมมือร่วมแรง ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติคือ ฝนแล้งก็จะบรรเทาเบาบางลงได้

บทสรุป
คุณค่าที่ได้จากการศึกษาวรรณกรรม
1. ทำให้ได้รู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนอีสานในสมัยก่อน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. สามารถนำข้อคิด คติธรรมต่าง ๆ ในวรรณกรรมมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันได้
3. ได้รับความรู้ในด้านขนบธรรมเนียมและประเพณีไทย นอกจากนี้ยังให้ความเพลิดเพลินในการอ่านวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมได้แทรกข้อคิดต่าง ๆ ไว้
4. ทำให้วรรณกรรมไม่สูญหายไปจากสังคมเร็วจนเกินไป
5. ทำให้คงคุณค่าของเอกลักษณ์ของไทย และของท้องถิ่นไว้ได้นาน

นิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่อง พญาคันคาก ถือเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

**************
ข้อมูลอ้างอิง
เกษียร มะปะโม. ลำนำท้าวพญาคันคาก. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2551.
คุณช่วย ปิยวิทย์. วรรณกรรมท้องถิ่น. นครราชสีมา : หมวดวิชาภาษาไทย โรงเรียนสุรนารีวิทยา, 2536.
ธวัช ปุณโณทก. วรรณกรรมอีสาน : วรรณกรรม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2537.
ประคอง นิมมานเหมินทร์. นิทานพื้นบ้านอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศูนย์คติชนวิทยาและภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.
วรพล ผลคำ. การศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมในนิทานพื้นบ้านอีสาน. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532.
สมชัย ฟักสุวรรณ์. ลำเรื่องพระยาคันคาก. นครราชสีมา : หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา, ม.ป.ป.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. การสัมมนาทางวิชาการเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ม.ป.ป.
สุขฤดี เอี่ยมบุตรลบ. การศึกษาวรรณกรรมอีสานเรื่อง พญาคันคาก. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก
มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532.